วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประวัติการค้นพบไดโดเสาร์


ประวัติการค้นพบ




มนุษย์ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์มาเป็นเวลานับพันปีแล้ว แต่ยังไม่มีผู้ใดเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเศษซากเหล่านี้เป็นของสัตว์ชนิดใด และพากันคาดเดาไปต่าง ๆ นานา ชาวจีนมีความคิดว่านี่คือกระดูกของมังกร ขณะที่ชาวยุโรปเชื่อว่านี่เป็นสิ่งหลงเหลือของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปเมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ จนกระทั่งเมื่อมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ในปี ค.ศ. 1822 โดย กิเดียน แมนเทล นักธรณีวิทยาชาวอังกฤษ ไดโนเสาร์ชนิดแรกของโลกจึงได้ถูกตั้งชื่อขึ้นว่า อิกัวโนดอน เนื่องจากซากดึกดำบรรพ์นี้มีลักษณะละม้ายคล้ายคลึงกับโครงกระดูกของตัวอิกัวนาในปัจจุบัน

สองปีต่อมา วิลเลียม บักแลนด์ (William Buckland) ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ก็ได้เป็นคนแรกที่ตีพิมพ์ข้อเขียนอธิบายเกี่ยวกับไดโนเสาร์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ โดยเป็นไดโนเสาร์ชนิด เมกะโลซอรัส บักแลนดี (Megalosaurus bucklandii) และการศึกษาซากดึกดำบรรรพ์ของสัตว์พวกกิ้งก่า ขนาดใหญ่นี้ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากนักวิทยาศาสตร์ทั้งในยุโรปและอเมริกา

จากนั้นในปี ค.ศ. 1842 เซอร์ ริชาร์ด โอเวน เห็นว่าซากดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ที่ถูกค้นพบมีลักษณะหลายอย่างร่วมกัน จึงได้บัญญัติคำว่า ไดโนเสาร์[1] เพื่อจัดให้สัตว์เหล่านี้อยู่ในกลุ่มอนุกรมวิธานเดียวกัน นอกจากนี้ เซอร์ริชาร์ด โอเวน ยังได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ขึ้น ที่เซาท์เคนซิงตัน กรุงลอนดอน เพื่อแสดงซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ รวมทั้งหลักฐานทางธรณีวิทยาและชีววิทยาอื่น ๆ ที่ถูกค้นพบ โดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งแซกซ์-โคเบิร์ก-โกทา (Prince Albert of Saxe-Coburg-Gotha) พระสวามีของสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร

จากนั้นมา ก็ได้มีการค้นหาซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ในทุกทวีปทั่วโลก (รวมทั้งทวีปแอนตาร์กติกา) ทุกวันนี้มีคณะสำรวจซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์อยู่มากมาย ทำให้มีการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ประมาณว่ามีการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่เพิ่มขี้นหนึ่งชนิดในทุกสัปดาห์ โดยทำเลทองในตอนนี้อยู่ที่ทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะประเทศอาร์เจนตินา และประเทศจีน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น